กัปตันหญิง VL ขยายฝูงเรือไทยบุกอาเซียน

ลงวันที่ 08/07/2019 10:45:00

ฝูงเรือ 13 ลำของบริษัท วี.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้กัปตันสตรี ชุติภา กลิ่นสุวรรณ กำลังฝ่าคลื่นลมมรสุมล่องหาโอกาสทั้งในน่านน้ำไทยและอาเซียน บริษัทขนส่งทางทะเลสัญชาติไทยขนาดกลางกำลังท้าชนกับต่างชาติ ด้วยมาตรฐานระดับโลก

V.L.21 เรือลำใหม่มูลค่า 155 ล้านบาท หรือราว 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลอยสงบนิ่ง ณ อู่ต่อเรือจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าของเรือ ชุติภา กลิ่นสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (VL) ผู้เป็นดัง กัปตันหญิง เดินขึ้นสำรวจเรือขนส่งสินค้าขนาด 7 ชั้น ศักยภาพการบรรทุก 5,676 เดทเวทตัน (DWT) ด้วยตนเอง เธอคุยไปยิ้มไป เป็นอีกวันที่เธอมีความสุขและภาคภูมิใจ หลังจากนำพาธุรกิจขนส่งทางทะเลฝ่ามรสุมในท้องทะเลมากว่า 26 ปี

“เร็วนะคะ 26 ปีผ่านมาแล้ว แทบไม่น่าเชื่อ” ชุติภาเริ่มต้นกับ Forbes Thailand ในสายวันหนึ่ง ไม่กี่วันก่อนที่เรือ V.L.21 จะจอดเทียบท่าที่สมุทรปราการในวันที่ 30 มีนาคม 2562 เพื่อเข้าทำพิธีทำบุญรับเรือลำใหม่ ก่อนที่จะวิ่งออกสู่ท้องทะเลไปอินโดนีเซียในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ชะตาชีวิตนำไป

ชุติภาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางอยู่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เธอทำงานธนาคารเป็นงานแรกและงานเดียวในชีวิต รับผิดชอบงานด้านวิเคราะห์สินเชื่อ ก่อนออกจากงานเธอได้เงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นบาท จากนั้นชุติภาในอายุ 30 ต้นๆ ได้ขายที่ดิน 640 ตารางวาในราคา 30 ล้านบาท แถวห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ปิ่นเกล้า ซึ่งเธอได้ซื้อเก็บก่อนที่ราคาที่ดินจะบูมในราคากว่า 4 ล้านบาท โดยตั้งใจว่าจะเอาเงินที่ได้ไปลงทุนสร้างอะพาร์ตเมนต์ให้เช่า

ชุติภา กลิ่นสุวรรณ

ต่อมาเพื่อนสนิทชวนเธอมาร่วมทำธุรกิจขนส่งทางทะเล ซึ่งเป็นบริษัทที่ขาดทุน มีหนี้สินราว 20 ล้านบาท มีเรือในครอบครอง 1 ลำ เน้นการบริการแบบรายเที่ยว (Spot Charter: SPOT) ขนส่งน้ำมันเป็นหลัก แม้จะเป็นบริษัทติดหนี้ แต่เธอก็มองว่าธุรกิจนี้น่าจะมีอนาคต จึงตัดสินใจเข้าร่วมทำธุรกิจและเข้าถือหุ้นบางส่วนในบริษัท

“ตอนตัดสินใจ ยอมรับนะว่ากลัว เรือลอยอยู่ในน้ำ เหมือนเอาเงินเราไปให้กัปตันดูแล ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอนไม่หลับ กังวล ไปเรื่อย” เธอย้อนถึงความรู้สึกช่วงนั้น

VL ถือกำเนิดขึ้นปี 2534 แต่ชุติภาเข้าเป็นหุ้นส่วนและเริ่มลุยงานปี 2536 เธอใช้ประสบการณ์ที่ได้สะสมจากการทำงานธนาคารเข้าปรับเปลี่ยนระบบการทำงานภายในใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะ “ระบบบัญชี” เธอได้สร้างระบบรายรับ–รายจ่ายผูกติดกับธนาคาร เพื่อควบคุมการใช้เงินและป้องกันเงินรั่วไหล ทั้งยังเพื่อยกระดับมาตรฐานการเชื่อมโยงการค้าของ VL กับโลกภายนอก และเธอยังได้ควบงานด้านการจัดซื้อไว้ในเวลาเดียวกัน

ธุรกิจดำเนินไปด้วยดี และมีลูกค้าที่สำคัญคือ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จนมีเงินเข้ามาหมุนเวียนมากกว่าเดิม ทำให้สภาพคล่องดีขึ้น และเงินบางส่วนยังถูกนำไปใช้สะสางหนี้ วันหนึ่งชุติภาได้พูดคุยกับหุ้นส่วนว่า หากจะอยู่รอดในธุรกิจนี้ จำเป็นต้องมีเรือลำที่ 2 ลำที่ 3 ดังนั้นในปี 2539 จึงตัดสินซื้อเรือมาอีก 1 ลำเป็นเรือมือสองมูลค่าราว 25 ล้านบาท พร้อมๆ กับเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาทในปี 2534

เรือ V.L.21 ณ อู่ต่อเรือจังหวัดสมุทรปราการ

การซื้อเรือลำที่ 2 เธอต้องใช้เงินตัวเองซื้อ เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่เชื่อมั่นในธุรกิจที่ทำอยู่ จากนั้นก็ซื้อลำที่ 3 ครั้งนี้ธนาคารใจดีปล่อยกู้ให้ 60% แต่ขอหลักทรัพย์และโฉนดที่ดินค้ำประกัน และการซื้อเรือลำที่ 3 ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนของบริษัทคือเป็นครั้งแรกที่ได้ทำสัญญาแบบระยะยาว (Contract of Affreightment : COA) กับเอสโซ่ ประเทศไทย

VL โตสุดๆ ในปี 2547 โดยได้ซื้อเรือเพิ่มขึ้นอีก 3 ลำในปีเดียวกัน พร้อมกับเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 37 ล้านบาท และยังได้รับโอกาสจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้เข้าช่วยขนส่งน้ำมัน โดยทำสัญญาแบบ COA ระยะเวลา 5 ปี เมื่อมีผลประกอบการดีขึ้น ชุติภาได้ซื้อเรือเพิ่มขึ้น

ช่วงเวลานี้ชุติภาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 99.93% เพราะเธอซื้อหุ้นเพิ่มทุกครั้งเมื่อมีการเพิ่มทุน จริงๆ แล้ว VL มีเรือเข้ามาใช้งานแล้วทั้งสิ้น 21 ลำ แต่บางลำถูกปลดระวางและขายออกไป ทำให้เรือใช้งานจริงมีอยู่ 13 ลำ และลำล่าสุดคือ V.L.21 โดยทำการขนส่งทางทะเลให้กับสินค้าหลัก 5 ประเภท คือ น้ำมันดิบ น้ำมันเตา น้ำมันใส น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันปาล์ม โดยเรือ 10 ลำวิ่งในน่านน้ำในประเทศ ขณะที่อีก 3 ลำวิ่งอยู่ในน่านน้ำอาเซียน ขนส่งน้ำมันปาล์มและน้ำมันหล่อลื่น

เข้าตลาดฯ ระดมทุน ซื้อเรือเพิ่ม

ชุติภาเข้าใจดีว่า หากปล่อยให้ VL เติบโตไปอย่างธรรมชาติ วันหนึ่งอาจจะถึงทางตัน ดังนั้น วิธีที่จะทำให้บริษัทเติบโตเร็วขึ้นและยั่งยืนคือเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ในการขยายงาน ปัจจุบันบริษัทได้มีการเสนอหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ 280 ล้านหุ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเข้าซื้อขายอยู่บนกระดานหุ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท หลังขายไอพีโอชุติภาจะเหลือหุ้นใน VL อยู่ที่ 64.95% ในปี 2561 VL มีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 694.38 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 54.27 ล้านบาท โดยรายได้จากในประเทศคิดเป็น 69.45% ขณะที่ 30.05% มาจากต่างประเทศ

“ความเสี่ยงในธุรกิจนี้ ปกติคือลมฟ้าอากาศ พายุทำให้เรือเสียเวลาไปส่งสินค้า ต้องให้พายุผ่านไปก่อน ล่าช้าแต่ไม่บ่อย ตอนนี้เรามีพยากรณ์ที่แม่นยำ เปิดจับพายุได้ เราสามารถหลีกเลี่ยง คนเดินเรือจะรู้ความเสี่ยง เราคุมอยู่” เธอกล่าว

ทั้งนี้ ชุติภาเชื่อว่า บริษัทจะยังรักษาการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต ตามจำนวนกองเรือที่เพิ่มขึ้น และการเปิดเส้นทางการเดินเรือใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศ และความต้องการการใช้น้ำมันที่มากขึ้น รวมถึงหาโอกาสในประเทศเพื่อนบ้าน ขยายเส้นทางการเดินเรือใหม่ๆ เช่น เส้นทางไทย–เวียดนาม ไทย–กัมพูชา และไทย–เมียนมา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ชุติภาบอกว่า VL จะเดินหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นโตอย่างหวือหวา

ข้อมูลจาก
Forbes Thailand