แกะร้อยหุ้น IPO : "VL" และกองเรือขนส่งปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งภูมิภาคเอเชีย

ลงวันที่ 14/05/2562 23:30:00

HIGHLIGHTS

  • "VL" หรือ "บริษัท วี.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)" คือ ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ โดยเรือเดินทะเล บริษัทมีกองเรือน้ำมันที่มีน้ำหนักรวมเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และมีอายุเฉลี่ยของกองเรือเพียง 16 ปี (อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมเจ้าของเรือไทยปี 2561)
  • สินค้าหลักที่รับขนส่ง คือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ กลุ่มลูกค้าหลัก คือ บริษัทน้ำมันและบริษัทน้ำมันพืช รายได้มาจากในประเทศเป็นหลัก บริษัทมีการทำสัญญากับคู่ค้าเพื่อรับงานอย่างต่อเนื่อง
  • บริษัทมีแนวโน้มรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2559 – 2560 และทรงตัวช่วง 2560 – 2561 ส่วนกำไรถูกกดดันจากการขยายกองเรือที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวดี
  • VL กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อระดมทุนไปขยายธุรกิจ ใช้คืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

หากพูดถึงเรือขนส่งน้ำมัน เราจะคิดถึงบริษัทอะไร?

หลายคนอาจจะมีคำตอบลอยเข้ามาในใจ แต่วันนี้ลงทุนศาสตร์จะพาทุกคนไปรู้จักกับ หุ้น "VL" น้องใหม่ที่กำลังจะเข้าตลาด แน่นอนว่าหากใครสนใจหุ้นในกลุ่มโลจิสติกส์ โดยเฉพาะกลุ่มเรือขนส่งแล้ว

"หุ้นน้องใหม่ตัวนี้ต้องถูกจัดเข้ากลุ่มหุ้นที่ต้องศึกษาเลย เพราะบริษัทที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ถือว่า มีดีกรีเป็นผู้ขนส่งปิโตรเลียมระดับภูมิภาคเอเชีย เลยทีเดียว"

"VL" หรือ "บริษัท วี.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)" คือผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ โดยเป็นการขนส่งทางทะเล พูดง่ายๆ ก็คือ ธุรกิจเรือขนส่งทางทะเลนี่แหละ เพียงแต่เน้นสินค้าไปที่ 5 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันเตา น้ำมันใส น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันปาล์ม

ปัจจุบัน บริษัทมีเรือที่ใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมด 12 ลำ โดยกองเรือมีอายุเฉลี่ยประมาณ 16 ปี มีน้ำหนักบรรทุกเรือรวม 35,081 Deadweight Tonnage (D.W.T.) และมีความสามารถในการบรรจุน้ำมันเพื่อขนส่งรวมอยู่ที่ 36,036 ลูกบาศก์เมตร

บริษัทถือเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ระดับภูมิภาคเอเชีย ลูกค้าในประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้ทำธุรกิจน้ำมันรายใหญ่อย่าง ESSO , BCP , เชฟรอน (ไทย) , เชลล์แห่งประเทศไทย , IRPC ส่วนลูกค้าระหว่างประเทศจะเจาะกลุ่มไปที่ผู้ทำธุรกิจปาล์มน้ำมันและน้ำมันหล่อลื่นในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากโครงสร้างรายได้จะเห็นว่ารายได้มาจากการให้บริการภายในประเทศเป็นหลัก การให้บริการภายในประเทศถือว่ามีความมั่นคงของปริมาณสูงในระดับหนึ่ง เพราะบริษัทจะมีการทำสัญญารับขนส่งสินค้าล่วงหน้า (Contract of Affreightment หรือ “COA”) และสัญญาแบบเช่าเหมาลำ (Time Charter) เพื่อช่วยกำหนดปริมาณการขนส่งสินค้าขั้นต่ำ ตรงนี้จะช่วยการันตีปริมาณงานในมือของบริษัทได้ โดยส่วนใหญ่สัญญาจะยาวประมาณ 1 – 3 ปี อย่างไรก็ตาม ค่าบริการจะมีความผันแปรไปตามราคาน้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมันในกรุงเทพฯ เส้นทางการขนส่ง และเงื่อนไขการขนส่งด้วย ตรงนี้จะช่วยให้บริษัทแบ่งเบาภาระความผันผวน จากต้นทุนค่าน้ำมันที่ใช้ในการขนส่งออกไปได้ส่วนหนึ่ง รายได้ของบริษัทก็จะมีความแน่นอนมากขึ้น

นอกจากการให้บริการแบบสัญญาแล้ว บริษัทยังมีการขนส่งสินค้าแบบรายเที่ยว (Spot Charter หรือ “SPOT”) ตรงนี้จะเป็นรายได้ที่จะเสริมเข้ามา จากส่วนรายได้ประจำจากงานแบบการทำสัญญากับบริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ในประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย

ในขณะที่รายได้จากต่างประเทศจะเน้นไปที่ธุรกิจน้ำมันปาล์มและน้ำมันหล่อลื่น รายได้ส่วนของบริการในต่างประเทศจะอยู่ที่ 25.75% ในปี 2561 สังเกตได้ว่าบริษัทจะมุ่งเน้นการเติบโตจากบริการภายในประเทศมากกว่าระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีเรือที่ใช้สำหรับขนส่งในเส้นทางระหว่างประเทศอยู่ที่ 3 ลำจากจำนวนกองเรือรวม 12 ลำ รูปแบบการทำสัญญาจะมีทั้งแบบ COA Time Chater และ SPOT แต่สัญญาแบบ COA จะเป็น 1 – 3 ปีเป็นหลัก

ความน่าสนใจ คือ สัดส่วนระหว่าง COA : SPOT สูงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตว่าสัดส่วน COA ต่อรายได้รวมมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจาก 65.85% , 71.40% ไปจนถึง 72.90% ตั้งแต่ปี 2559 – 2561 ตามลำดับ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่บริษัทพยายามจะสร้างความมั่นคงของรายได้และปริมาณให้สูงมากขึ้น ในขณะที่แนวโน้มปริมาณการขนส่งในประเทศก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ตรงนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ดี เพราะสัญญาของบริการในประเทศจะมีช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าบริการระหว่างประเทศ

อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมเจ้าของเรือไทยปี 2561 บริษัทถือว่าเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ในผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจำนวนทั้งหมด 9 ราย

โดย VL มีกองเรือที่มีความสามารถให้บริการขนส่งเป็นอันดับที่ 4 และมีอายุเฉลี่ยของกองเรือน้อยเป็นอันดับ 2

นอกจากนี้ความน่าสนใจอีกอย่าง คือ กลยุทธ์การตั้งราคา

นโยบายการตั้งราคาค่าบริการในประเทศใช้วิธีการบวกจากต้นทุนที่เกิดขึ้น (Cost Plus Pricing) เป็นหลัก ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบลดลงจากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีมากขึ้นอีกด้วย เพราะการตั้งราคาแบบนี้จะช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิมีแนวโน้มมั่นคงขึ้น

ถึงแม้ว่านโยบายการตั้งราคาค่าบริการระหว่างประเทศจะใช้วิธีราคาตลาดที่สามารถเทียบเคียงกับคู่แข่งได้ (Competitive Price) ที่อาจจะมีจุดด้อยมากกว่า แต่บริษัทก็มีแนวโน้มที่จะมาเพิ่มสัดส่วนรายได้จากภายในประเทศที่ทำให้รายได้ของบริษัทดูดีขึ้นทั้งในแง่ความมั่นคง (สัญญายาวกว่า) และความสามารถในการทำกำไร (การตั้งราคาแน่นอนกว่า) ด้วย

จากภาพรวมรายได้ของบริษัทมีการเติบโตในช่วง 2559 – 2560 และค่อนข้างทรงตัวในปี 2560 – 2561 ในขณะที่กำไรสุทธิหดตัวจากการลงทุนซื้อเรือใหม่มาเพิ่มเติมซึ่งก็ส่งผลให้บริษัทสามารถเพิ่มโอกาส

ในการสร้างรายได้มากขึ้น แต่ในช่วงต้นก็มีค่าใช้จ่ายจากค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายอื่นในการขยายงานขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทมีแนวโน้มดูดีขึ้นในปี 2561 ถึงแม้ว่าจะยังมีปัจจัยกดดันจากการขยายกองเรือก็ตาม

VL กำลังจะเข้าตลาดหุ้น

บริษัทวางแผนจะเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อระดมทุนในการไปขยายกองเรือ เพิ่มปริมาณขนาดบรรจุขนส่งต่อเที่ยวเรือ เพิ่มจำนวนเที่ยวเรือ ซ่อมบำรุงเรือ ชำระเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งบริษัทก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ก็ยังต้องการเงินทุนมาขยับขยายเพิ่มเติม

บริษัทจะขายหุ้น IPO จำนวนรวม 280 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดย VL จำนวน 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม คือ นางชุติภากลิ่นสุวรรณ จำนวน 80 ล้านหุ้น คิดเป็น 10%

หากใครสนใจอยากศึกษาลักษณะธุรกิจบริษัท VL เพิ่มเติม รวมไปถึงอยากเข้าใจอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้นก็สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2PXYXjE หรือ ถ้าใครอยากอ่านหนังสือชี้ชวนก็คลิกได้ที่นี่ http://bit.ly/2VDZeyB

จับที่นั่งกันให้ดี เรือ VL กำลังจะออกแล้ว !